medesignsystem@gmail.com, co@medesignsystem.com
123/190 เพอร์เฟคพาร์คบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
084-449-4514, 065-632-9799 (คุณนิ)

ตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง – สิ่งที่ควรรู้

                   ก่อนที่เราจะทำการลงนามรับโอนบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ทาว์นโฮม ทาว์นเฮ้าส์ หรืออื่น ๆ นั้น จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าบ้านของเรามีสภาพดี การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมเข้าอยู่ได้ หากบ้านของเราไม่พร้อมที่จะเข้าอยู่ได้ก็อย่าพึ่งรีบเซนต์รับโอนโดยหวังว่าหลังจากโอนแล้วจะให้ช่างมาแก้ ขอแนะนำว่า อย่าเด็ดขาด! 

                   การตรวจรับบ้านอาจจะต้องใช้เวลามากหน่อยเพื่อตรวจดูให้ละเอียดทุกซอกทุกมุมจะได้ไม่มีปัญหากวนใจมาให้แก้ภายหลัง หรือให้มีปัญหาน้อยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จะดีที่สุด และไม่จำเป็นว่าผู้ตรวจรับบ้านต้องเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เราเองก็สามารถตรวจบ้านด้วยตนเองได้ เพียงแต่มีเรื่องสำคัญ ๆ ที่ต้องคำนึงถึงและต้องใช้ความละเอียดในการพิจารณา โดยในบทความนี้จะขอแบ่งการตรวจรับบ้านออกเป็น 6 เรื่องที่ควรให้ความสำคัญ คือ

1. เรื่องพื้น

  • พื้นที่นอกบ้าน  กรณีที่เป็นบ้าน ทาว์นโฮม ทาว์นเฮ้าส์ หรืออื่น ๆ ที่มีพื้นที่ภายนอกตัวบ้าน ควรตรวจดูบริเวณนอกบ้านทั้งหมด

       (1) พื้นที่สนามหญ้า ตรวจดูว่าถมดินรอบบ้านเรียบสวยงามดี มีส่วนที่ยุบตัวหรือไม่ ต้องไม่มีเศษวัสดุก่อสร้างค้างเหลือ

       (2) ที่จอดรถ ต้องเรียบสม่ำเสมอไม่มีรอยแตกร้าว ไม่เป็นหลุม เป็นบ่อ ความเอียงต้องไม่มากไปหรือน้อยไป

       (3) กำแพงบ้าน ตรวจดูว่าทาสีสม่ำเสมอหรือไม่ ไม่มีรอยร้าว รั้วตั้งตรงไม่เอียง

       (4) รั้วและประตู ตรวจดูว่าเปิดปิดสะดวก น้ำหนักต้องไม่หนักมากเกินไป กลอนประตูรั้วต้องดูหนาแน่น ลงกลอนได้สะดวกและไม่ฝืด ดูรอยต่อต่าง ๆ และการทาสี ต้องไม่มีสนิมเกาะ

       (5) รางระบายน้ำนอกบ้าน ตรวจดูรูรางระบายน้ำว่ามีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่ ควรมีแนวทางน้ำไหลไปในทิศทางที่ไม่ไหลกลับเข้าหาตัวบ้าน ลองเทน้ำลงพื้นแล้วสังเกตการไหลของน้ำว่าช้าหรือเร็ว และต้องไม่มีน้ำท่วมขัง

       (6) ท่อน้ำภายนอก ตรวจดูว่ามีการติดตั้งสวยงาม หนาแน่นและง่ายต่อการซ่อมแซมหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ควรแก้ไข

       (7) กริ่งหน้าบ้าน ตรวจดูว่าทำงานปกติดีหรือไม่ มียางกันน้ำ หรือมีกล่องครอบกันน้ำหรือไม่

 

  • พื้นในบ้าน  สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจดูคือ 

       (1) พื้น ตรวจดูว่าเรียบเสมอกันหรือไม่ สังเกตได้จากการเดินไม่สะดุด เดินบนพื้นดูความสม่ำเสมอ ไม่มีส่วนที่แอ่นยื่นออกมาแทงเท้า ถ้าเป็นแผ่นกระเบื้องก็ตรวจดูด้วยว่าการเทปูนปูกระเบื้องแน่นหรือไม่โดยใช้เหรียญบาท (หรือเหรียญ 5 เหรียญ 10 ก็ได้) เคาะที่กระเบื้องทุกแผ่นว่าปูนแน่นเต็มแผ่นหรือไม่ ถ้ามีเสียงกลวงเวลาเคาะรู้สึกถึงว่าเป็นโพรงหรือรูข้างล่างนั่นคือเทปูนไม่เต็ม ควรแก้ไข
       (2) บันได เวลาเหยียบต้องไม่มีเสียง ไม่สั่น รู้สึกแน่นแข็งแรง พื้นผิวเรียบไม่ขุรขระและไม่ลื่น ไม่มีรอยแตก ขั้นบันไดมีระยะเท่ากัน

2. เรื่องผนัง

  • อันดับแรกต้องตรวจดูว่าผนังฉาบเรียบ เป็นแนวดิ่ง แนวฉาก ไม่เอียง ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่เป็นหลุมหรือเป็นบ่อ
  • ถ้ามีการทาสีตรวจดูถ้าทาสีเรียบสม่ำเสมอดีหรือไม่ ต้องไม่เป็นรอยด่างเป็นวง
  • ถ้าติดวอลเปเปอร์ ต้องตรวจดูว่าติดเรียบเป็นรอยต่อหรือไม่ วอลเปเปอร์ชำรุดหลุดลอก หรือขาดหรือไม่ โดยเอามือลูบไปที่ผนังถ้าไม่สัมผัสถึงความขุรขระไม่สม่ำเสมก็ถือเป็นอันใช้ได้

3. เรื่องฝ้าเพดาน

         ตรวจสอบได้โดยใช้สายตาดูให้ทั่วบริเวณฝ้าเพดาน การฉาบเรียบปูน รวมถึงการทาสี ไม่มีคราบ ระดับฝ้าเพดานต้องสม่ำเสมอเท่า ๆ กัน รอยต่อของแผ่นต้องเรียบได้ระดับสม่ำเสมอ

4. เรื่องช่องเปิด

         ช่องเปิด ได้แก่ ประตู หน้าต่าง ช่องแสง ช่องระบายอากาศ บานเกล็ด ดังนี้

  • การติดตั้ง ต้องได้ระดับ ไม่เอียง ไม่เบี้ยว ขนาดและชนิดถูกต้องตามแบบหรือไม่
  • ดูรอยต่อขอบประตูและการทาสี หน้าต่างว่าเก็บเรียบร้อยดีหรือไม่ มีร่องยาแนวหรือซิลิโคนป้องกันน้ำ
  • ตรวจดูการเปิดเปิด ว่าปิดได้สนิทดีหรือไม่ วงกบแนบสนิทกับผนังไม่มีแสงลอดผ่านได้ ขอบประตูด้านล่างต้องไม่มีรูให้แมลงตัวเล็กลอดผ่านได้
  • ตรวจดูกลอนประตูหน้าต่างว่าหนาแน่น ลงกลอนได้สะดวกและไม่ฝืด ดูรอยต่อต่าง ๆ และต้องไม่มีสนิมเกาะ
  • ประตูบานเลื่อน ลองเลื่อนเปิด-ปิดดูไม่ ไม่ผืด ไม่ตกราง ดูหนาแน่และไม่มีเสียงดังเวลาเปิด-ปิด
  • มือจับบานประตู หน้าต่าง และช่องอื่น ๆ ลองจับโยกดู จะต้องติดตั้งหนาแน่น แข็งแรง ไม่หลุดง่าย

5. เรื่องน้ำ

  • อันดับแรก ให้ตรวจดูมิเตอร์น้ำว่าหมุนหรือไม่ ยังไม่ต้องเปิดน้ำ ถ้าหมุนแสดงว่ามีจุดที่น้ำรั่ว ให้แก้ไข
  • เปิดก็อกน้ำทุกจุด ฝักบัว ดูว่าน้ำไหลแรงดีหรือไม่ มีน้ำรั่วที่ข้อต่อหรือไม่
  • เทน้ำลงบนพื้นจุดที่ทีทางระบายน้ำ ตรวจดูการระบายน้ำ ความลาดเอียงของพื้นห้องน้ำแล้วสังเกตการไหลของน้ำว่าช้าหรือเร็ว ถ้าน้ำขังควรจะต้องแก้ไข
  • ระบบน้ำทิ้ง ได้แก่ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างจาน อ่างล้างหน้า ให้เปิดจุกอ่างแล้วเปิดน้ำขังไว้จนน้ำล้นออกไปช่องน้ำล้น เพื่อดูว่าช่องน้ำล้นทำงานได้ดีหรือไม่ แล้วปล่อยน้ำทิ้ง ถ้าน้ำไหลออกช้าและมีฟองอากาศผุดขึ้นมาแสดงว่ามีปัญหาท่ออากาศหรือท่ออากาศมีขนาดเล็กเกินไป หรือติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมให้แก้ไข แต่ถ้าน้ำไหลออกช้าและแต่ไม่มีฟองอากาศอาจจะว่ามีสิ่งอุตตันท่อหรือเดินท่อไม่ได้มาตรฐาน
  • ชักโครก ให้ตรวจดูการติดตั้งว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ ลองกดชักโครกเพื่อดูการไหลของน้ำและถังเก็บน้ำ ชักโครกต้องกดได้สะดวก
  • ตรวจดูอุปกรณ์ห้องน้ำทั้งหมดว่าให้มาครบหรือไม่ การติดตั้งเรียบร้อยดี ดูหนาแน่นแข็งแรงไหม

 

เปิดน้ำให้ล้นอ่างดูการไหล

6. เรื่องไฟฟ้า

  • เปิด-ปิด สวิทช์ไฟทุกจุด ว่าไฟติดทุกดวงหรือไม่
  • ใช้ไขควงจิ้มไฟดูว่ามีไฟ และไฟรั่วหรือไม่ หรือลองเอาสายชาร์ทโทรศัพท์มาเสียบดูว่าไฟติดหรือไม่
  • มีการเดินสายไฟสำหรับติดเครื่องทำน้ำอุ่นให้ มีสายดิน และต้องมีเบรกเกอร์ติดแยกไว้ต่างหาก
  • ปิดไฟทุกดวงแล้วดูว่ามิเตอร์ไฟ ถ้ามิเตอร์วิ่งแสดงว่าไฟรั่ว ต้องตรวจหาและแก้ไขทันที
  • ปลั๊กไฟภายนอกอาคารต้องมีกันน้ำ เพราะถ้าฝนตกจะได้ไม่เป็นอันตราย
  • ถ้ามีพัดลมดูดอากาศ เครื่องดูดควัน พัดลมเพดาน ให้ลองเปิด-ปิดดูว่าใช้งานได้ปกติดีไหม มีเสียงดังหรือไม่
  • ดูการติดตั้งปลั๊กไฟและสวิทช์ว่าหนาแน่นดีหรือไม่
  • เครื่องปรับอากาศ ให้เปิดการทำงานพร้อม ๆ กับอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าทุกตัวและหลอดไฟ ตรวจสอบว่ามิเตอร์ทำงานปกติหรือไม่ และตรวจดูด้วยว่ามีน้ำรั่วหรือไม่ 

 

ปลั๊กกันน้ำด้านนอก

          เพียงเท่านี้ เราก็สามารถตรวจรับบ้านได้ด้วยตนเอง แม้การตรวจรับบ้านนั้นอาจจะต้องใช้เวลาตรวจดูข้อบกพร่องของบ้านมากหน่อย แต่ก็จะทำให้เราได้บ้านที่มีคุณภาพและการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมเข้าอยู่ได้ สบายทั้งใจและสบายกระเป๋าทีเดียว หากมีคำถาม ต้องการคำปรึกษา หรืออยากจะแชร์ประสบการณ์ตรวจรับบ้านของตนเอง สามารถบอกได้ที่กล่อง Comment ด้านล่าง ด้วยความยินดีค่ะ

สำหรับผู้ที่ที่ต้องไปตรวจรับบ้านหากต้องการใช้บริการการตรวจรับบ้าน สามารถติดต่อเราได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *